ประโยชน์ของการตรวจวัดจากระยะไกล
1. ตรวจวัดครอบคลุมพื้นที่ได้เป็น บริเวณกว้างในแต่ละครั้ง โดยเฉพาะการตรวจวัดจากอวกาศ
ทำให้มองภาพรวมได้ง่าย และได้ข้อมูลที่ค่อนข้างทันต่อเหตุการณ์
2. ตรวจวัดได้ในหลายระดับของความละเอียด
ทั้งความละเอียดเชิงพื้นที่และความละเอียดเชิงรังสี ขึ้นอยู่กับความสามารถของอุปกรณ์
และระดับความสูงของสถานีติดตั้ง เป็นสำคัญ
3.
ตรวจวัดได้อย่างต่อเนื่องทั้งในช่วงกลางวันและช่วงกลางคืน โดยเฉพาะการตรวจวัดในช่วง เทอร์มอลอินฟราเรดและไมโครเวฟ ซึ่งไม่จำเป็นต้องใช้แสงอาทิตย์ช่วยในการสำรวจ
4. ตรวจวัดได้ใน หลายช่วงคลื่นไม่เฉพาะในช่วงแสงขาวที่ตาเรามองเห็นเท่านั้น ทำให้ได้ข้อมูล
เกี่ยวกับวัตถุหรือพื้นที่ที่ศึกษามากกว่าที่เรารับรู้ตามปกติมาก
5. ตรวจวัดข้อมูลในพื้นที่ที่เข้าถึงทางพื้นดินลำบากได้อย่างมีประสิทธิภาพ
เนื่องจากอุปกรณ์ที่ใช้ต้องการเพียงสัญญาณคลื่นแม่เหล็กไฟฟ้าที่มาจากพื้นที่ที่ศึกษาเท่านั้นในการทำงาน
ข้อเสียของการตรวจวัดจากระยะไกล
1. ต้องใช้งบลงทุนในเบื้องต้นและงบดำเนินการสูง โดยเฉพาะในการจัดหาสถานีติดตั้งและการสร้างอุปกรณ์ตรวจวัดเนื่องจากเป็นเทคโนโลยีระดับสูง
2. ต้องใช้บุคลากรที่ได้รับการฝึกฝนมาโดยเฉพาะในการดำเนินงาน
เนื่องจากต้องการผู้ที่มีความรู้พื้นฐานที่ดีมากพอสำหรับการบริหารจัดการระบบและการใช้ประโยชน์
จากข้อมูลที่ได้
3. ข้อมูลที่ได้บางครั้งยังขาดความละเอียดเชิงพื้นที่มากพอ เนื่องมาจากเป็นการสำรวจจากระยะไกล
ทำให้การศึกษาในบางเรื่องอาจมีข้อจำกัดอยู่มากพอควร
4. ข้อมูลที่ได้บางครั้งยังมีความคลาดเคลื่อนอยู่สูง ซึ่งเกิดมาได้จากหลายสาเหตุ ทั้งส่วนที่เกิดมาจากความบกพร่องของตัวระบบเอง
และส่วนที่เกิดมาจากสภาวะแวดล้อมขณะทำการตรวจวัด